มโนทัศน์เกี่ยวกับข้อคำถามวัดพฤติกรรมสมอง

จะสังเกตพบว่า การคิดค้นหาคำตอบของข้อคำถามแต่ละข้อนั้นจะใช้พลังของสมอง ไม่เท่ากัน และในลักษณะที่แตกต่างกัน คำถามบางคำถามเป็นคำถามที่วัดความจำซึ่งเป็นพฤติกรรมของสมองขั้นพื้นฐาน
กล่าวคือ เป็นคำถามที่ใช้สมองในการคิดค้นหาคำตอบได้อย่างง่าย ๆ โดยอาจจะใช้เพียงการระลึกถึงข้อความที่เคยพบ
หรือสิ่งที่เคยสังเกตเห็น แต่บางข้อคำถามจะต้องใช้ความคิดของสมองที่ลึกซึ้ง ผู้ตอบต้องคิดอย่างซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อคำถามที่ล้วงลึกเลยไปจากข้อความในตำรา
หรือล้วงลึกเลยไปจากลักษณะต่าง ๆ ที่เคยพบเห็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางข้อคำถามนั้นนักเรียนจะต้องขยายความคิดให้กว้างไกลออกไปจากข้อเท็จจริงในตำรา
ซึ่งนับว่า เป็นข้อคำถามที่วัดคุณภาพของสมองขั้นสูง
อย่างไรก็ตามตำราเล่มนี้จะอธิบายแง่มุมในการวัด
พฤติกรรมทางสมองโดยยึดแนวความคิดของบลูม (Bloom) และคณะที่ได้แบ่งพฤติกรรมการคิดของสมองออกเป็น 6 กลุ่มโดยเรียงลำดับจากง่ายไปสู่พฤติกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น คือ ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า ดังนั้นจึงมีการแบ่ง ข้อคำถามออกเป็น 6 กลุ่ม
ตามลักษณะพฤติกรรมการคิดของสมอง ได้แก่ ข้อคำถามวัดความจำ ข้อคำถามวัดความเข้าใจ ข้อคำถามวัดการนำไปใช้ ข้อคำถามวัดการวิเคราะห์ ข้อคำถามวัดการสังเคราะห์ และข้อคำถามวัดความประเมินค่า ซึ่งมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของข้อคำถาม ดังนี้
ข้อสังเกตที่
1 เหตุผลที่ยึดเอาแนวคิดด้านพุทธิพิสัยของบลูมและคณะเป็นหลักในการอธิบายเกี่ยวกับแง่มุมในการเขียนข้อคำถามวัดพฤติกรรมสมองก็ด้วยเหตุผล
2 ประการ คือ ประการแรก แนวคิดในการแบ่งพฤติกรรมทางสมองของบลูมและคณะที่แบ่งเป็น 6
ด้านดังกล่าว ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย และมีการนำไปประยุกต์ใช้เป็นหลักในการกำหนดจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ในทุกสาขาวิชาและทุกระดับการศึกษา
ถึงแม้ว่าแนวคิดของบลูมและคณะดังกล่าวจะพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1950-1959 ซึ่งเป็นเวลานานมาแล้วก็ตาม แต่เมื่อเดวิด
แครทโวลท์ (David Krathwohl) และโลริน แอนเดอร์สัน (Lorin
Anderson) ได้เป็นแกนหลักในการรวบรวมนักจิตวิทยา นักทฤษฎีหลักสูตร
นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัดและประเมินผล
เพื่อปรับปรุงจุดมุ่งหมายทางการศึกษาด้านพุทธิพิสัยใหม่
และจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ปรับปรุงแล้วในปี ค.ศ. 2001 ก็พบว่ายังมีความคล้ายคลึงกับแนวความคิดของบลูมและคณะแต่เดิม
(วิทวัฒน์ ขัตติยะมาน และ ฉัตรศิริ
ปิยะพิมลสิทธิ์, 2549) ดังแผนภูมิที่ 2.1
แนวคิดเดิม
|
แนวคิดใหม่
|
1.
ความรู้ –
ความจำ (knowledge)
2.
ความเข้าใจ (comprehension)
3.
การนำไปใช้ (application)
4.
การวิเคราะห์ (analysis)
5.
การสังเคราะห์ (synthesis)
6.
การประเมินค่า (evaluation)
|
1.
จำ (remembering)
2.
เข้าใจ (understanding)
3.
ประยุกต์ใช้ (applying)
4.
วิเคราะห์ (analysing)
5.
ประเมินค่า (evaluating)
6.
คิดสร้างสรรค์ (creating)
|
แผนภูมิที่ 2.1 เปรียบเทียบการจำแนกพฤติกรรมทางสมองตามแนวคิดเดิมของบลูมและคณะ
กับแนวคิดที่ปรับปรุงใหม่ของเดวิด แครทโวลท์
และโลวิน แอนเดอร์สัน
จะเห็นว่า แนวคิดใหม่นั้นจะคล้ายคลึงของเดิมมากจะแตกต่างกันก็อยู่ที่การใช้คำศัพท์ที่แนวคิดเดิมเป็นคำนาม
แต่แนวคิดใหม่ใช้คำกริยาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการคิด
(จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้จึงใช้คำกริยา
เพื่ออธิบายกระบวนการหรือพฤติกรรมของสมอง)
อนึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการสังเคราะห์ (synthesis) เป็น คิดสร้างสรรค์ (creating)
และสลับลำดับที่ให้คิดสร้างสรรค์เป็นพฤติกรรมสำคัญท้ายสุด
ดังนั้นการเขียนข้อคำถามในแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์วิชาต่าง ๆ นั้นจึงสามารถจะใช้แง่มุมในการถามตามแนวคิดของบลูมและคณะดังกล่าว
ประการที่สองก็คือ
จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างแบบทดสอบการวัดทักษะ การคิด (thinking skills) ที่เป็นจุดเน้นที่หลักสูตรปัจจุบันต้องการให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน และ
ทิศนา แขมมณี และคณะ (2544)
ได้จัดการระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการคิดแล้วจัดหมวดหมู่ตามระดับความซับซ้อนของการคิดออกเป็น 3
ระดับ ได้แก่
1. ทักษะการคิดพื้นฐาน (basic
skill) หรือกระบวนการคิดที่ใช้ในการรับหรือส่ง ข้อมูล
ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับทักษะในการสื่อสาร และมีความสลับซับซ้อนในการคิดไม่มากนัก
เช่น ทักษะการฟัง ทักษะการอ่าน ทักษะการรับรู้ ทักษะการจดจำ ทักษะการบอกกล่าว ทักษะการอธิบายหรือการบรรยาย ทักษะการพูด
ทักษะการเขียน
หรือทักษะในการทำความกระจ่าง
เป็นต้น
2. ทักษะการคิดแกนสำคัญ (core thinking skill) เป็นทักษะการคิดที่ใช้อยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน
และมักใช้เป็นฐานในกระบวนการคิดขั้นสูงขึ้น มีความซับซ้อนมากกว่าการคิดพื้นฐาน เช่น
ทักษะการสังเกต ทักษะการสำรวจ ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะการรวบรวมข้อมูล ทักษะการจำแนกแยกแยะ ทักษะการเปรียบเทียบ ทักษะการจัดหมวดหมู่ ทักษะการสรุปอ้างอิง ทักษะการแปลความหมาย ทักษะการตีความหมาย ทักษะการขยายความหมาย
หรือทักษะการใช้เหตุผล เป็นต้น
3. ทักษะการคิดระดับสูง (Higher Order
Thinking Skill) เป็นทักษะการคิดที่ต้องใช้
กลยุทธ์ทางความคิดที่ซับซ้อน ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
มีการคิดหลายขั้นตอน
และต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมายผสมผสานกับทักษะการคิดที่เป็นแกนหลายทักษะเข้าด้วยกัน เช่น ทักษะการสรุปความ ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการผสมผสานข้อมูล
ทักษะการจัดระบบความคิดและสร้างองค์ความรู้ ทักษะการคาดคะเน พยากรณ์หรือตั้งสมมติฐาน ทักษะการทดสอบสมมติฐานหรือพิสูจน์ความจริง หรือทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นต้น
ทักษะการคิดทั้ง 3
ระดับที่กล่าวมาข้างต้นนี้เมื่อวิเคราะห์ดูรายละเอียดก็พบว่า
มีความคล้ายคลึงและสามารถใช้คำถามจากแง่มุมในการถามพฤติกรรมสมองด้านต่าง ๆ
ของบลูมและคณะได้

ข้อสังเกตที่ 2 การแบ่งข้อคำถามออกเป็นประเภทต่าง ๆ นั้นหากคิดให้ลึกซึ้งแล้ว คำถามบางข้อก็ยากที่จะตัดสินได้อย่างเด็ดขาดว่าเป็นข้อคำถามที่วัดพฤติกรรมของสมองในด้านใดแน่ เพราะพฤติกรรมของสมองในด้านต่าง ๆ มิได้แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แต่มักจะพาดพิง เกี่ยวเนื่องกันไป กล่าวคือ พฤติกรรมของสมองในด้านความจำจะเป็นความสามารถพื้นฐานสำหรับพฤติกรรมของสมองด้านความเข้าใจ จะพบว่าก่อนที่นักเรียนจะเกิดความเข้าใจในเรื่องราวใด ๆ เขาก็ต้องรู้เห็นและจดจำเรื่องนั้น ๆ ได้เสียก่อน หรือนักเรียนจะต้องจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ และมีความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้จึงจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และในทำนองเดียวกันในการวินิจฉัยเพื่อประเมินคุณค่าของเรื่องใด ๆ ก็ย่อมต้องอาศัยความสามารถของสมองในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ และการวิเคราะห์เป็นพื้นฐาน ขอให้สังเกตตัวอย่างข้อคำถามต่อไปนี้
หรือดังตัวอย่างต่อไปนี้
![]() |
จะเห็นได้ว่าการค้นหาคำตอบของข้อคำถามต่าง ๆ นั้นไม่ได้ใช้คุณภาพของสมองด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
ดังนั้นการที่จะตัดสินว่าข้อคำถามที่มีปัญหาลักษณะดังกล่าวนี้วัดคุณภาพสมองด้านใดนั้นให้ยึดถือหลักว่า
“เป็นข้อคำถามที่ต้องใช้สมรรถภาพสูงสุดชนิดใดมาตอบ ก็จัดว่าเป็นข้อคำถามวัดพฤติกรรมสมองด้านนั้น”
ข้อสังเกตที่ 3
ข้อคำถามทั้ง 6 ประเภทนั้นหากคิดเปรียบเทียบกับพฤติกรรมสมองที่เรียกว่า
“สติปัญญา” นั้นก็อาจนำมาจัดกลุ่มใหม่อย่างคร่าว ๆ จะได้ 2
กลุ่มคือ ข้อคำถามที่วัด
คุณภาพสมองด้าน “สติ” และข้อคำถามที่วัดคุณภาพสมองด้าน
“ปัญญา”
ข้อคำถามที่วัดคุณภาพสมองด้านสติ ก็คือข้อคำถามที่วัดทางด้านความจำ ซึ่งจัดเป็น ข้อคำถามที่ต้องการจะตรวจสอบว่านักเรียนยังสามารถระลึกถึงเรื่องราวหรือสิ่งที่เคยพบเคยได้ยินมาก่อนได้หรือไม่
ลักษณะคำตอบของข้อคำถามแบบนี้จึงเป็นข้อความที่นักเรียนลอกเลียนมาจากหนังสือ
หรือคำบอกเล่า หรือจากการสังเกตโดยตรง ไม่ใช่ข้อความที่นักเรียนคิดขึ้นมาเอง ข้อคำถามแบบนี้นับเป็นข้อคำถามที่วัดคุณภาพของสมองขั้นพื้นฐาน
ข้อคำถามที่วัดคุณภาพสมองด้านปัญญา หมายถึงข้อคำถามที่วัดทางด้านความคิด
ลักษณะคำตอบของข้อคำถามประเภทนี้ จะต้องเป็นข้อความที่นักเรียนคิดขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง
มิใช่เป็นข้อความที่ลอกเลียนมาจากที่อื่นโดยตรง หรือหากเป็นข้อคำถามเก่าก็ต้องเป็นข้อคำถามที่ตอบในแง่มุมอย่างใหม่
แต่อย่างไรก็ตามการที่นักเรียนจะคิดคำตอบใหม่ ๆ ได้ ก็ย่อมต้องอาศัยคุณภาพสมองทางด้านความจำในเรื่องราวต่าง
ๆ เป็นพื้นฐาน ข้อคำถามที่วัดคุณภาพสมองด้านปัญญาหรือความคิดนี้ได้แก่ ข้อคำถามวัดความเข้าใจ
ข้อคำถามวัดการนำไปใช้ ข้อคำถามวัดการวิเคราะห์ ข้อคำถามวัดการสังเคราะห์ และข้อคำถามวัดการประเมินค่า
ดังแผนภูมิที่ 2.2

แผนภูมิที่ 2.2
แสดงการแบ่งกลุ่มข้อคำถามด้านสติและกลุ่มข้อคำถามด้านปัญญา
ข้อสังเกตที่ 4 การตั้งคำถามมิใช่จะนำไปใช้เฉพาะในขณะที่ทำการทดสอบตอนท้ายของการเรียนการสอน
แต่จะต้องใช้ตลอดเวลาของการเรียนการสอน ครูอาจใช้คำถามเพื่อถามนักเรียนหรือนักเรียนอาจตั้งคำถามเพื่อถามครู
หรือถามเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นการตอบโต้กันเองก็ได้ การตั้งคำถามเป็นทั้งเทคนิคและศิลปะที่จำเป็น
และมีความสำคัญมากในการเรียนการสอน เพราะข้อคำถามที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นที่จะปลุกเร้าหรือยั่วยุให้นักเรียนคิด
และในขณะเดียวกันข้อคำถามก็จะ มีสภาพเป็นกรอบที่ขีดลงให้นักเรียนคิด นักเรียนจะคิดอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง
หรือคิดในวงแคบ ๆ คิดอย่างตื้น ๆ ก็เป็นเพราะอิทธิพลของคำถามที่ใช้ยั่วยุ ถ้าตลอดเวลาของการเรียนการสอนครูใช้ ข้อคำถามประเภทความจำที่มีคุณภาพต่ำ เป็นคำถามที่ไม่ยั่วยุให้นักเรียนได้คิดอย่างลึกซึ้ง
คือเป็น คำถามที่ไม่ก่อให้เกิด “ปัญญา” แล้ว นักเรียนผู้ที่เป็นผลผลิตจากการเรียนการสอนในสภาพเช่นนี้ ก็จะเป็นนักเรียนที่มีแต่ “สติ” (ความจำ) แต่ขาด “ปัญญา” (ความคิด) และคนที่มีแต่สติโดยขาดปัญญานั้นก็เปรียบเสมือนกับเครื่องจักรกล
หรือนกแก้วนกขุนทอง ซึ่งมิใช่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในการให้การศึกษาแก่นักเรียน
ในการเรียนการสอนครูควรเลือกใช้ข้อคำถามที่เน้นหนักในประเภทที่ก่อให้เกิดปัญญา
ใช้ข้อคำถามที่ยั่วยุให้เด็กได้คิดอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง แต่จากข้อเท็จจริงจะพบว่ามีครูเป็นจำนวนมากที่ขาดทักษะในการตั้งคำถาม
ข้อคำถามที่ใช้ส่วนมากยังคงเป็นข้อคำถามประเภทความจำ จึงทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาสมองด้านความคิดเท่าที่ควร
เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวแล้วจึงเสนอแนะลักษณะของข้อคำถามที่วัดพฤติกรรมสมองด้านความคิดในแง่มุมต่าง
ๆ ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการฝึกหัดเขียนข้อคำถามให้มีคุณภาพดี และมีแง่มุมแบบแปลก ๆ ต่อไป

ข้อสังเกตที่ 5 ตัวอย่างข้อคำถามที่ใช้วัดพฤติกรรมสมองในแง่มุมต่าง ๆ นั้นอาจจะมีบางข้อคำถามที่ จัดอยู่ในประเภทหนึ่งแล้วอาจถูกจัดอยู่ในอีกประเภทหนึ่งก็ได้ ดังตัวอย่าง
![]() |
ข้อคำถามทั้ง 2 ข้อดังกล่าวข้างต้นอาจจัดอยู่ในกลุ่มต่าง ๆ ได้หลายกลุ่ม เช่น อาจจัดอยู่ในกลุ่มจำสถานที่ เพราะคำตอบเป็นการระบุสถานที่มีลักษณะตามที่กำหนด หรืออาจจัดอยู่ในกลุ่ม จำปริมาณ เพราะคำตอบเกี่ยวข้องกับปริมาณมากน้อยในลักษณะต่าง ๆ หรืออาจจัดอยู่ในกลุ่มจำชื่อ เพราะคำตอบเป็นการระบุชื่อ เป็นต้น
|
แต่อย่างไรก็ตาม ขออย่าได้วิตกกังวลในปัญหานี้
การที่ได้พยายามแยกแยะแง่มุมของข้อคำถามออกเป็นประเภทต่าง ๆ มากมายนี้ก็เพื่อให้เห็นตัวอย่างกลเม็ดในการถามหลาย
ๆ แบบ และหวังว่าเมื่อได้เห็นตัวอย่างมาก ๆ แล้วจะก่อให้เกิดการจดจำไปเป็นแบบอย่าง
หรือเห็นแล้วเกิดปัญญาในการที่จะพลิกแพลงเป็นข้อคำถามแบบแปลก ๆ และนำไปใช้
จนทำให้แบบทดสอบที่สร้างขึ้นมีคุณภาพที่สามารถวัดพฤติกรรมได้อย่างหลากหลาย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น